ทรัพยากรดิน

 

ทรัพยากรดิน
ดิน

คือ เทหวัตถุธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นบนพื้นผิวโลก เป็นวัตถุที่ค้ำจุนการเจริญเติบโต และการทรงตัวของต้นไม้ ดินประกอบด้วยแร่ธาตุ และอินทรียวัตถุต่างๆ และมีลักษณะชั้นแตกต่างกัน แต่ละชั้นที่อยู่ต่อเนื่องกัน จะมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ตามขบวนการกำเนิดดิน

การอนุรักษ์ดิน หมายถึง การใช้ประโยชน์จากดินอย่างชาญฉลาด ซึ่งจำเป็นจะต้องคำนึงถึง เรื่องดังต่อไปนี้ คือ

1. ลดการกัดเซาะ หรือป้องกันการพังทลายของดิน
2. รักษาปริมาณธาตุอาหารในดินให้คงความอุดมสมบูรณ์อยู่เสมอ ๓. รักษาระดับอินทรียวัตถุ และคุณสมบัติของดินในทุกๆ ด้าน เพราะการปรับปรุงให้กลับคืนมาจากการสูญเสียไปนั้น จะต้องใช้เวลาอันยาวนาน และเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าการป้องกัน โดยวิธีการอนุรักษ์เป็นอันมาก

สำหรับวิธีการพิเศษในการอนุรักษ์ดิน ตามหลักการอนุรักษ์ ได้แก่

1. การปลูกพืชคลุมดิน หมายถึง การปลูก พืชที่มีใบหนาแน่น หรือมีระบบรากลึกและแน่น เพื่อคลุมและยึดดิน เช่น พืชตระกูลถั่ว และหญ้า เป็นต้น

2. การปลูกพืชหมุนเวียน หมายถึง การปลูกพืชต่างชนิดกันบนพื้นที่เดียวกัน โดยหมุนเวียนเปลี่ยนไป นอกจากนี้การเลือกชนิดพืช ที่จะนำมาปลูก ควรพิจารณาเลือกพืช ที่มีความต้องการแร่ต่างกัน รวมทั้งเลือกปลูกพืชแต่ละชนิด ที่มีระบบรากลึก และรากตื้นสลับกัน และไม่ควรปลูกพืชวงศ์เดียวกัน เพราะจะมีศัตรูพืชคล้ายกัน

3. การคลุมดิน หมายถึง การนำเอาวัสดุใดๆ เช่น หญ้าแห้ง ขี้เลื่อย ไปคลุมไว้บนดิน เพื่อป้องกันการกัดเซาะ และลดแรงปะทะของเม็ดฝน และแรงลม ทำให้ดินเพิ่มความสามารถในการรักษาความชื้น และลดการไหลบ่าของน้ำ อันจะช่วยลดการสูญเสียธาตุอาหารในดิน

4. การปลูกพืชตามแนวระดับ หมายถึง การไถ พรวน หว่าน และเก็บเกี่ยวพืชผลขนานไปตามแนวระดับ เพื่อลดการพังทลายของดิน

5. การปลูกพืชสลับเป็นแถบ หมายถึง การปลูกพืชต่างชนิดกันสลับเป็นแถบๆ ขวางความลาดชันของพื้นที่ หรือตามแนวระดับ

6. การทำขั้นบันได เพื่อช่วยลดความลาดเท และความเร็วของน้ำที่ไหลบ่า ทำให้ปริมาณการสูญเสียเนื้อดินน้อยลง ป้องกันการเกิดร่องน้ำ และช่วยให้ดินเก็บความชื้นได้มากขึ้น

วิธีการรักษาหรือเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ ของดินทำได้ดังนี้

1. เพิ่มอินทรียวัตถุ เศษเหลือจากพืช เช่น หญ้าแห้ง กิ่งไม้ใบไม้ และปุ๋ยพืชสด รวมทั้งเศษเหลือจากสัตว์ อินทรียวัตถุเหล่านี้ จะไปช่วยทำให้คุณสมบัติทางฟิสิกส์ของดินดีขึ้น ทำให้ดินร่วนซุย สามารถดูดซับน้ำได้มากขึ้น ส่วนจุลินทรีย์ในดิน จะช่วยให้อินทรียวัตถุต่างๆ เหล่านี้สลายตัวเป็นธาตุอาหาร ที่เป็นประโยชน์แก่พืชต่อไป

2. การเพิ่มปุ๋ยพืชสด โดยการไถพรวนพืชสดๆ ทับลงไปในดิน ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มแร่ธาตุจากพืชสด เพื่อเป็นอาหารแก่ดิน

3. การใช้ซากและเศษเหลือจากสัตว์ ซึ่งประกอบด้วยธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อการเจริญ เติบโตของพืช เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม ซัลเฟอร์ เป็นต้น อันจะช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดินให้ดีขึ้น

4. การใช้ระบบการปลูกพืชหมุนเวียน เพื่อช่วยให้ดินคงความอุดมสมบูรณ์อยู่ได้

5. การใช้ปูนขาว เพื่อให้ธาตุแคลเซียม ซึ่งเป็นอาหารชนิดหนึ่ง ที่จำเป็นต่อพืช และยังเป็นตัวช่วยลดความเป็นกรด และปรับปรุงคุณสมบัติอื่นๆ ของดินได้ดีอีกด้วย

6. การรักษาธาตุไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ในดิน การรักษาธาตุไนโตรเจนในดิน ทำได้โดยการปลูกพืชตระกูลถั่วไว้ คอยตรึงไนโตรเจนจากอากาศ และทำการไถพรวนเป็นปุ๋ยพืชสด อันจะช่วยเพิ่มไนโตรเจนให้แก่ดินได้อย่างดี ส่วนฟอสฟอรัส พืชมักจะใช้ในรูปของซูเปอร์ฟอสเฟต สำหรับโพแทสเซียม รักษาให้คงอยู่ได้ ด้วยการปลูกพืชให้ถูกต้อง ตามหลักการอนุรักษ์ เพื่อป้องกันการชะล้าง และควรใช้ปุ๋ยที่ให้โพแทสเซียมโดยตรง \

 

อ้างอิง:http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=21&chap=8&page=t21-8-infodetail08.html